สาระ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านการศึกษา อันได้แก่ การจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลฐานข้อมูล การพัฒนาระบบสารสนเทศช่วยการเรียนการสอน การวางแผนและการบริหารการศึกษา การวางแผนหลักสูตร การแนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล การพัฒนาบุคลากร

ความสำคัญ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ IT) ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การบริการสังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านการศึกษา ซึ่งการมีบทบาทสำคัญนี้อาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอทีนั้นเปรียบเหมือนเครื่องจักรที่สามารถรองรับข้อมูลข่าวสารมาทำการประมวลผล และการแสดงผลตามที่ต้องการได้รวดเร็ว โดยอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ ช่วยในการจัดการ ได้แก่ โปรแกรมปฏิบัติการ โปรแกรมชุดคำสั่งต่างๆ และที่สำคัญคือ ผู้ที่จะตัดสินใจหรือสั่งการให้ทำงานได้ถูกต้องตามเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ใช้ ผู้บริหาร และผู้ชำนาญการ หรือนักเทคโนโลยีสารสนเทศโดยตรง รัฐบาลไทยในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญ เล็งเห็นประโยชน์และคุณค่าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยใน พ.ศ. 2535 ได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ" ขึ้น โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและให้มีรองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน มีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐบาลและเอกชน และได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งในเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างบรรยากาศ ให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้จัดทำแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการและการดำเนินการตามแผนดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 4 ช่วงได้แก่
ช่วงที่ 1 : การมีการใช้คอมพิวเตอร์ในงานทั่วไป (พ.ศ. 2536-2538)
ช่วงที่ 2 : การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (พ.ศ. 2536-2539)
ช่วงที่ 3 : การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (พ.ศ. 2537-2540)
ช่วงที่ 4 : การใช้คอมพิวเตอร์เต็มรูปแบบ (พ.ศ. 2540 เป็นต้น)

ความเป็นมา
ประเทศไทยได้เริ่มใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2506 เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกเป็นเครื่อง IBM 1401 ติดตั้งที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อจัดทำสถิติและสัมมโนประชากร ต่อมา พ.ศ. 2527 รัฐบาลได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการคอมพิวเตอร์แห่งชาติ" ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติการจัดหาคอมพิวเตอร์ของส่วนราชการ พ.ศ. 2534 รัฐบาลได้ยุบคณะกรรมการคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เพื่อให้หน่วยราชการต่างๆ มีความคล่องตัวในการจัดหาคอมพิวเตอร์ เพราะคอมพิวเตอร์มีราคาถูกลง และนิยมใช้แพร่หลายขึ้น พ.ศ. 2535 มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ จากนั้นคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติได้แต่งตั้งอนุกรรมการด้านต่างๆ 7 ด้านได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ การค้าระหว่างประเทศ การวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีสาร-สนเทศ การวางแผนพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในหน่วยงานของรัฐ การพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ และการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4
(พ.ศ. 2520-2524) รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร และเทคโนโลยีคมนาคม เข้ามาใช้ในการจัด การพัฒนา และเผยแพร่สารสนเทศให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ภายใต้การประสานงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ การดำเนินการด้านนี้กล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้
1. พ.ศ. 2522 กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศขึ้น ได้นำระบบ Mainframe มาใช้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 และขยายเครือข่าย On-line ไปยังกรมต่างๆ ในสังกัด 14 กรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้ยังได้จัดหาอุปกรณ์ไมโครคอมพิวเตอร์ให้หน่วยงานศึกษาธิการในระดับเขตการศึกษา ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ สำหรับการพัฒนาระบบสารสนเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการบริหารและการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
2. ศูนย์สารสนเทศทบวงมหาวิทยาลัย มีระบบคอมพิวเตอร์ทั้งระดับ Mainframe และ Mini Computer และไมโครคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบสารสนเทศ สำหรับการวางแผนและการบริหารกิจกรรมในทบวงมหาวิทยาลัย
3. สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ มีความก้าวหน้าในการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบริหารการเรียนการสอน การทะเบียน การวิจัย และประเมินผล รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสถาบันต่างๆ เช่น เครือข่าย Internet ไทยสาร CUNET และ PULINET
4. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ มีศูนย์สารสนเทศทางการศึกษา รับผิดชอบในการวางแผนและพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ

ช่องทางการสื่อสารข้อมูล
ระบบแบบเดินสายเคเบิล (Wired system) จะรวมถึงสื่อกลางที่เป็นสายทั้งหมด ระบบเครือข่ายที่อุปกรณ์ต่างๆ อยู่ห่างกันไม่มากนัก สายสัญญาณที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน จะมีชนิดต่าง ๆตามลักษณะเครือข่าย และความต้องการในการใช้งาน


สายคู่บิดเกลียวแบบมีชีลด์และไม่มีชีลด์ (Shielded and UnShielded Twisted-Pair Cable)
เป็นสายที่มีราคาถูกที่สุด ประกอบด้วยสายทองแดงที่มีฉนวนหุ้มจำนวน 2 เส้น นำมาพันกันเป็นเกลียว สายเกลียวคู่หนึ่งจะแทนช่องทางการสื่อสาร (Channel) ได้หนึ่งช่องทาง


สายโคแอกเชียล (Coaxial Cable)
เป็นสายสื่อสารที่สามารถส่งข้อมูลไกลกว่าสายแบบคู่บิดเกลียวแต่มีราคาสูงกว่า ประกอบด้วยสวนของสายส่งข้อมูลที่เป็นลวดทองแดงหุ้มด้วยฉนวนอยู่ตรงกลาง จากนั้นจะหุ้มด้วยตัวนำเพื่อเป็นสายกราวนด์และหุ้มด้วยฉนวนเป็นเปลือกนอกอีกชั้นหนึ่ง สามารถส่งข้อมูลได้ทั้งแบบเบสแบนด์และบรอดแบนด์


สายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable)
ประกอบด้วยใยแก้วหรือพลาสติกอยู่ตรงกลางของสาย และใช้ใยแก้วอีกชนิดหนึ่งเป็น ตัวหุ้ม (cladding) และหุ้มด้วยฉนวนในชั้นนอกสุด ข้อเสียคือติดตั้งและบำรุงรักษายาก มีราคาแพงที่สุดในจำนวนสายสัญญาณที่กล่าวมา


ระบบไมโครเวฟ (Microwave system)
ใช้วิธีส่งสัญญาณที่มีความถี่สูงกว่าคลื่นวิทยุเป็นทอด ๆ จากสถานีหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่ง เรียกว่าสัญญาณแบบ เส้นสายตา (Line of sight) สถานีหนึ่งจะครอบคลุมพื้นที่รับสัญญาณได้ประมาณ 30-50 กม.


ระบบดาวเทียม (Satellite systems)
ใช้หลักการยิงสัญญาณจากแต่ละสถานี ต่อกันไปยังจุดหมายที่ต้องการ ใช้ดาวเทียมซึ่งลอยอยู่ในพิกัดที่แน่นอนเพียง 3 ดวง ข้อเสียที่สำคัญคือจะมี เวลาหน่วง (Delay Time) ในการส่งสัญญาณ ทำให้ฝ่ายรับได้รับข้อมูลช้ากว่าเวลาที่เกิดขึ้นจริง

ระบบอื่น ๆ
- ระบบอินฟาเรด (Infared) ใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกับ remote control จะมีข้อจำกัดที่ต้องใช้งานเป็นเส้นตรงระหว่างเครื่องรับและเครื่องส่ง รวมทั้งไม่อาจมีสิ่งกีดขวางด้วย
- ระบบวิทยุ (Radio) ใช้คลื่นวิทยุในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย
- ระบบสเปคตรัมแถบกว้าง (Spread Spetrum) เป็นระบบคลื่นวิทยุที่ถูกพัฒนาเพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนและการดักสัญญาณ

ไม่มีความคิดเห็น: